วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

คณะทำงานผู้จัดทำหลักสูตรและจัดการศึกษา


ที่ปรึกษาการดำเนินงานการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์
                    เลขาธิการ กศน.
                    ผู้อำนวยการสถาบัน กศน.ภาคเหนือ

                    รองผู้อำนวยการ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
                    หัวหน้าส่วนทุกส่วนของสถาบัน กศน.ภาคเหนือ

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา


มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา

                   มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา   เป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖    กำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมทางการศึกษา   ตั้งแต่วิชาชีพครู  ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษา  และบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ตามที่ประกาศกำหนดในกฎกระทรวง)    จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการ     อันถือเป็นเป้าหมายหลักของการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา    ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องศึกษาให้เกิดความรู้     ความเข้าใจที่ถูกต้องให้สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพให้สมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูงและได้รับการยอมรับ

                   คุรุสภา ดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖     มาตรา ๙ (๑)   คุรุสภามีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพมาตรา ๙ (๑๑) (ฉ)  กำหนดให้คุรุสภามีหน้าที่ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ  และมาตรา ๔๙      กำหนดให้มีข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ   ประกอบด้วย  (๑)มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ  (๒) มาตรฐานการปฏิบัติงาน  (๓)  มาตรฐานการปฏิบัติตน

                  

                   มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา  คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่า เป็นบริการที่มีคุณภาพ ตอบสังคมได้ว่าการที่มีกฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษา และกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมนั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความเชียวชาญในการประกอบวิชาชีพ

                   พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 49 กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพ 3 ด้าน ประกอบด้วย

                   1. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ หมายถึง ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์วิชาชีพเพียงพอที่จะประกอบวิชาชีพ จึงจะสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์พร้อมที่จะประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้

                   2. มาตรฐานการปฏิบัติงาน หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในวิชาชีพให้เกิดผลเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด พร้อมกับมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ ทั้งความชำนาญเฉพาะด้านและความชำนาญตามลำดับคุณภาพของมาตรฐานการปฏิบัติงาน หรืออย่างน้อยจะต้องมีการพัฒนาตามเกณฑ์ที่กำหนดว่ามีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ เพียงพอที่จะดำรงสถานภาพของการประกอบวิชาชีพต่อไปได้หรือไม่ นั่นก็คือ การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี

                   3. มาตรฐานการปฏิบัติตน หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประพฤติตนของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นแนวทางและข้อพึงระวังในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียง ฐานะ เกียรติ และศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ ตามแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพที่คุรุสภาจะกำหนดเป็นข้อบังคับต่อไป หากผู้ประกอบวิชาชีพผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นจนได้รับการร้องเรียนถึงคุรุสภาแล้ว ผู้นั้นอาจถูกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1) ยกข้อกล่าวหา 2) ตักเตือน 3) ภาคทัณฑ์ 4) พักใช้ใบอนุญาตที่กำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี และ 5) เพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 54)

วิธีการศึกษาเรียนรู้

สาระเนื้อหา ที่ปรากฏใน บล็อก แห่งนี้ ดำเนินการขึ้นเพื่อเป็นฐานการเรียนรู้สำหรับผู้สนใจในมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู  โดยทางสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ได้กำหนดวิธีการศึกษาเรียนรู้ ไว้ 2 ลักษณะ
1.การศึกษาแบบต่อเนื่อง   โดยมีเงื่อนไข การเรียนรู้ ดังนี้
1.ท่านต้องเรียนรู้ผ่านฐานการเรียนรู้ที่ www.northeducation.ac.th/etraining/index.php
2.ท่านต้องเป็นสมาชิกในระบบ และลงทะเบียนหลักสูตรนี้ เพื่อร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ กิจกรรมประจำบทเรียน การวัดประเมินผล
3.เข้าศึกษาเรียนรู้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
    หลังจากท่านศึกษาจบหลักสูตร ระบบ จะอนุมัติผล พร้อมมอบหลักฐานการจบการเรียนรู้ออนไลน์ให้ท่าน ท่านสามารถส่งเอกสารดังกล่าว เพื่อขอรับวุฒิบัตร การฝึกอบรม(การเรียนรู้/การศึกษา)ออนไลน์ จาก สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

2.การศึกษาตามอัธยาศัย
   โดยมีขั้นตอนการเรียนรู้ 2 รูปแบบ
1.รูปแบบระบบสมาชิก
   ซึ่งจะมีลักษณะ คล้ายกับแบบต่อเนื่อง สามารถเข้ารับการวัดผลความรู้ในหลักสูตรได้ แต่ไม่จำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ทุกขั้นตอนที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ท่านสามารถเลือกเรียนได้ ตามอิสระ ซึ่งท่านต้องเข้าไปเป็นสมาชิกในระบบและลงทะเบียนหลักสูตรนี้ที่ www.northeducation.ac.th/etraining/index.php
2.รูปแบบเพื่อศึกษาเฉพาะเนื้อหา
   ซึ่งท่านสามารถ เข้าถึง และเลือกสาระเนื้อหา ตามที่ท่านสนใจในหลักสูตรได้ อย่างอิสระ

ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ


ข้อบังคับคุรุสภา

ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ

  พ.ศ. ๒๕๔๘

--------------------------------

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑๑) (จ) (ฉ)  มาตรา ๔๙   และมาตรา ๕๐     แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกอบกับ มติคณะกรรมการ   คุรุสภา ในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๔๘ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘   และมติคณะกรรมการคุรุสภา   ในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๘ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยความเห็นชอบของ      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการคุรุสภาจึงออกข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ไว้ดังต่อไปนี้

              ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๘

               ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

               วิชาชีพ หมายความว่า วิชาชีพทางการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการรับผิดชอบการบริหารสถานศึกษา        ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐ และเอกชน และการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาตลอดจน  การสนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศและการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ

            ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หมายความว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖

            ครู หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน
ผู้บริหารสถานศึกษา หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาภายในเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาอื่นที่จัดการศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน
            ผู้บริหารการศึกษา หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
            บุคลากรทางการศึกษาอื่น หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษา    ในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานการศึกษากำหนดตำแหน่งให้ต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา
            มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาหมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ และคุณภาพ  ที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตาม ประกอบด้วย มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ มาตรฐานการปฏิบัติงานและมาตรฐานการปฏิบัติตน
            มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษา ซึ่งผู้ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องมีเพียงพอที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้
            มาตรฐานการปฏิบัติงาน หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือการแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติงานและการพัฒนางาน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม  เพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษา รวมทั้งต้องฝึกฝนให้มีทักษะหรือความชำนาญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
            มาตรฐานการปฏิบัติตน หมายความว่า จรรยาบรรณของวิชาชีพที่กำหนดขึ้น เป็นแบบแผนในการประพฤติตน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้รับบริการและสังคม อันจะนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
            ข้อ ๔ ให้ประธานกรรมการคุรุสภารักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ รวมทั้งให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัย ชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
หมวด ๑
มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ
---------------------
ข้อ ๕  ผู้ประกอบวิชาชีพครู   ต้องมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้
                        (ก) มาตรฐานความรู้ มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ ดังต่อไปนี้
                              (๑) ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
                              (๒) การพัฒนาหลักสูตร
                    (๓) การจัดการเรียนรู้
                              (๔) จิตวิทยาสำหรับครู
                              (๕) การวัดและประเมินผลการศึกษา
                              (๖) การบริหารจัดการในห้องเรียน
                              (๗) การวิจัยทางการศึกษา
                              (๘) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
                              (๙) ความเป็นครู
                        (ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา               ตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ดังต่อไปนี้
                              (๑) การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน
                              (๒) การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ
            ข้อ ๖  ผู้ประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์    วิชาชีพ   ดังต่อไปนี้
                        (ก) มาตรฐานความรู้ มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ ดังต่อไปนี้
                    (๑) หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา
                              (๒) นโยบายและการวางแผนการศึกษา
                              (๓) การบริหารด้านวิชาการ







                              (๔) การบริหารด้านธุรการ การเงิน พัสดุ และอาคารสถานที่
                              (๕) การบริหารงานบุคคล
                              (๖) การบริหารกิจการนักเรียน
                              (๗) การประกันคุณภาพการศึกษา
                              (๘) การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ
                              (๙) การบริหารการประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์ชุมชุน
                              (๑๐) คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา
            นอกจากคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารสถานศึกษา               ที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง
                        (ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้
                              (๑) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือ
                              (๒) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและต้องมีประสบการณ์ในตำแหน่ง  หัวหน้าหมวด หรือหัวหน้าสาย หรือหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่น ๆ ในสถานศึกษามาแล้ว    ไม่น้อยกว่าสองปี
            ข้อ ๗ ผู้ประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ต้องมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้
                        (ก) มาตรฐานความรู้ มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษา                 หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ ดังต่อไปนี้
                              (๑) หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา
                              (๒) นโยบายและการวางแผนการศึกษา
                              (๓) การบริหารจัดการการศึกษา
                              (๔) การบริหารทรัพยากร
                              (๕) การประกันคุณภาพการศึกษา
                              (๖) การนิเทศการศึกษา
                              (๗) การพัฒนาหลักสูตร
                              (๘) การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ
                              (๙) การวิจัยทางการศึกษา
                              (๑๐) คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารการศึกษา
               นอกจากคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการศึกษา               ที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง
                        (ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ดังต่อไปนี้
                              (๑) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าแปดปี   หรือ
                              (๒) มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีหรือ
                              (๓) มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาที่ไม่ต่ำกว่าระดับกองหรือเทียบเท่ากองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีหรือ
                              (๔)  มีประสบการณ์ในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น   ตามที่กำหนดใน  กฎกระทรวงมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือ
                              (๕) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอน และมีประสบการณ์ในตำแหน่ง            ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารนอกสถานศึกษา หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามที่กำหนดใน  กฎกระทรวงรวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
               ข้อ ๘ ผู้ประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
               ข้อ ๙ สาระความรู้และสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาตามมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

หมวด ๒
มาตรฐานการปฏิบัติงาน
------------------

               ข้อ ๑๐  ผู้ประกอบวิชาชีพครู ต้องปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน   ดังต่อไปนี้
               (๑) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
               (๒) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้เรียน
               (๓) มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
               (๔) พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
               (๕) พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
               (๖) จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
               (๗) รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
               (๘) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน
               (๙) ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
               (๑๐) ร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์
               (๑๑) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
               (๑๒) สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกสถานการณ์
               ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา  และผู้บริหารการศึกษาต้องปฏิบัติงาน         ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
               (๑) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษา
               (๒) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาของบุคลากร  ผู้เรียน  และชุมชน
               (๓) มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้สามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ
               (๔) พัฒนาแผนงานขององค์การให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
               (๕) พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ
               (๖) ปฏิบัติงานขององค์การโดยเน้นผลถาวร
               (๗) รายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ
               (๘) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
               (๙) ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์
               (๑๐) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
               (๑๑) เป็นผู้นำและสร้างผู้นำ
               (๑๒) สร้างโอกาสในการพัฒนาได้ทุกสถานการณ์
            ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน ตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

หมวด ๓
จรรยาบรรณของวิชาชีพ
--------------

               ข้อ ๑๓ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพและแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ

ส่วนที่ ๑
จรรยาบรรณต่อตนเอง
---------------

               ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

ส่วนที่ ๒
จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
--------------

               ข้อ ๑๕ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

ส่วนที่ ๓
จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
----------------

               ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม             ให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า
               ข้อ ๑๗ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัย         ที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์  และผู้รับบริการ  ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
               ข้อ ๑๘ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ 
               ข้อ ๑๙ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ
               ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและ  เสมอภาค      โดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนที่ ๔
จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
----------------

               ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

 

ส่วนที่ ๕

จรรยาบรรณต่อสังคม
--------------------

               ข้อ ๒๒ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของ ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศ    วันที่  ๓๑   สิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘

เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์
ประธานกรรมการคุรุสภา